เทศบาลนครขอนแก่นร่วมเป็นวิทยากรในวงเสวนา สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในกระแสการพัฒนาเมืองขอนแก่น

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.30 น. ณ เซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มอบหมายให้นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรี เป็นวิทยากรในวงเสวนา "สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในกระแสการพัฒนาเมืองขอนแก่น" จากการที่เทศบาลนครขอนแก่น เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีประชากรที่เข้ามาใช้ชีวิตในเขตเมืองไม่น้อยกว่าวันละ 300,000 คน ด้วยความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคอีสานทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เมื่อมีคนมาก บริโภคย่อมมาก ของเสียที่เกิดขึ้นย่อมมีปริมาณมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ปัญหามลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ รวมทั้งการลดลงของพื้นที่สีเขียวเดิม และสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือปริมาณการใช้พลังงานของเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านการบริหารจัดการเมืองนอกจากการพัฒนาทางด้านเศรษกิจ การค้า การลงทุนแล้ว การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นปัจจัยที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs)และวิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง "พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข" ภายใต้พันธกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตและทุนทางสังคม และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผนวกแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบอัจฉริยะและคาร์บอนต่ำ (Khon Kaen, smart and low-carboncity) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อยในการขับเคลื่อน 5 ต้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์สังคมแห่งต้นไม้ ยุทธศาสตร์สังคมไร้มลพิษ ยุทธศาสตร์สังคมพิชิตพลังงาน ยุทธศาสตร์สังคมที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์การสร้างสังคมคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว โดยมีปณิธานร่วมกันว่า "เราจะไม่ส่งมอบโลกที่บอบช้ำให้กับคนรุ่นต่อไป " ภายใต้ชื่อโครงการ "คนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ" การดำเนินงานได้มีการบูรณาร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ โดยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2555 และมีการสอดแทรกกิจกรรมในภารกิจต่างๆ ของเทศบาลนครขอนแก่นในทุกด้านทุกบริบทที่ต้องจัดการปัญหาของเมือง เช่น การจัดการต้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสถานประกอบการ โรงงาน สถานบันเทิง การควบคุมมลพิษ และแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ มลพิษทางเสียง กลิ่น ฝุ่นละออง ตลอดจนการประเมินมาตรฐานส้วมสาธารณะ HAS การส่งเสริมภาคประชาชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาดเก็บขนขยะผ่านโครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่โดยเน้นให้แต่ละชุมชนจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยตัวเอง การจัดการอาหารปลอดภัยไร้สารปนเปื้อนไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังระดับร้านอาหารให้ผ่านมาตรฐาน การพัฒนาเครือข่าย อสม.คุ้มครองผู้บริโภค ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน เช่น ตรวจร้านชำ ตรวจฉลากอาหาร ตรวจเครื่องสำอาง การส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน ตลอดจนมีตลาดทางเลือกขอนแก่นกรีนมาร์เก็ต การตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน สถานศึกษาสถานประกอบการ โดยมีมาตรฐานการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานของเทศบาลนครขอนแก่น จะสามารถบรรลุผ่านไปได้ คงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่คงต้องใช้การบูรณาการในหลายภาคส่วน และทำในทุกมิติทั้งการป้องกันไม่เกิดปัญหา ส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฟื้นฟู บำบัดในส่วนที่เสียไปให้กลับมาใช้ได้ตามมาตรฐานที่ควรเป็น เทศบาลนครขอนแก่นได้ตระหนักและดำเนินการอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยง สานต่อให้บรรลุผล อันจะส่งผลให้การพัฒนาเมืองไปสู่แนวทางที่ยั่งยืน และ เพื่อให้ประชาชนของเทศบาลนครขอนแก่นมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป

แสดงความคิดเห็น