เทศบาลนครขอนแก่นประชุมติดตามความก้าวหน้าคณะวิจัยโครงการการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำน่าอยู่อย่างยั่งยืน กรณี ขอนแก่น

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสีโห เทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มอบหมายให้ นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าคณะวิจัยโครงการการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำน่าอยู่อย่างยั่งยืน กรณี ขอนแก่น (The Sustainable Development of Livable Low Carbon City)โดยมี นายภาษิต ชนะบุญ รองปลัดเทศบาล ,นางอินทิรา ฆารเจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ ,นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข ,นายธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้าง ,รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนา ระดับพื้นที่ (บพท.)พร้อมคณะ ,พนักงานเทศบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม สำหรับการประชุมติดตามความก้าวหน้าคณะวิจัยโครงการการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำน่าอยู่อย่างยั่งยืน กรณี ขอนแก่น (The Sustainable Development of Livable Low Carbon City) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ปีงบประมาณ 2565 ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการและพัฒนาคณะทำงาน ดังนี้ 1. เพื่อยกระดับกลไกการสร้างความร่วมมือระดับพื้นที่ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ที่นำไปสู่การจัดการแผนพัฒนาพัฒนาเมือง ในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน มนุษย์และสังคมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การลงทุนสีเขียว และการยกระดับคุณภาพชีวิตพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. เพื่อจัดการและพัฒนาระบบข้อมูลเปิดของเมืองที่มีอยู่ (City Data Inventory) เพื่อให้เมืองมีระบบในการประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (City Carbon Footprint – CCF) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่นำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 3. เพื่อพัฒนาตัวแบบเชิงธุรกิจเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Business Model) และการประยุกต์แผนธุรกิจในพื้นที่ต้นแบบ (Prototype Area) หรือ ย่านคาร์บอนต่ำ (Low Carbon District) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่มีการลงทุนและกิจกรรมบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฐานความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้ของประเทศไทย หรือจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 4. สร้างต้นแบบ Pocket Park/Urban Farm เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่กักเก็บคาร์บอน และยังเป็นการนำพื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างประโยชน์ให้กับเมือง 5. เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ชุมชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน เข้าใจ เข้าถึงรวมทั้งมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น 6. เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเขตพื้นที่เทศบาลและพื้นที่เครือข่าย (ชุมชน วัด สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ และสถานศึกษา ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น 7. เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในเขตเทศบาลและพื้นที่เครือข่าย (ชุมชน วัด สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ และสถานศึกษา ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น)

แสดงความคิดเห็น